เกี่ยวกับประเทศเกาหลี

KOREAN CULTURAL CENTER

  • เกี่ยวกับประเทศเกาหลี
  • ความเป็นอยู่
  • บ้าน

Hanok, traditional Korean houses. The ancient house of Yun Jeung, a Confucian scholar of the late Joseon (1392-1910) period, situated in Nonsan, Chungcheongnam-do, also called Myeongjae Gotaek after his pen name.

บ้านฮันอก (บ้านเกาหลีแบบดั้งเดิม) บ้านโบราณของยูนจึง นักปราชญ์ที่มีชีวิตอยู่ในยุคปลายสมัยโชซอน  (1392-1910) ตั้งอยู่ที่ แขวงคโย-ชนรี เขตโนซองมยอน เมืองนนซัน จังหวัดชุงชองนัมโด หรือที่เรียกกันว่า “มยองแจโคแทก” ตามนามปากกา



ชาวเกาหลีได้พัฒนาเทคนิคทางสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์  เพื่อสร้างบ้านเรือนที่เหมาะสมกับธรรมชาติแวดล้อมปกป้องคุ้มภัยให้กับผู้อยู่อาศัยลักษณะพิเศษของบ้านฮันอก (บ้านเกาหลีแบบดั้งเดิม) คือระบบทำความร้อนใต้พื้นเรือนที่เรียกว่า “อนดล” ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเอาชนะความหนาวเย็นในฤดูหนาว ซึ่งมีความหมายว่า “หินร้อน” อนดลนั้นได้มีการประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ก่อนที่จะมีการพัฒนาบ้านฮันอก ซึ่งเป็นระบบทำความร้อนที่เป็นเอกลักษณ์อย่างมาก มีการสร้าง “กูดึล” (ท่อ) ที่พื้นใต้ดินบ้านเป็นทางยาว เมื่อมีการจุดไฟที่อากุงอี (เตาไฟ) ในห้องครัวความร้อนและควันไฟจะถูกส่งผ่านท่อกูดึลออกมาที่ทางกุลดุก (ปล่องไฟ) ซึ่งเป็นระบบถ่ายเทความร้อนที่ออกแบบได้สอดคล้องกับทางวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง อีกหนึ่งรูปแบบของการสถาปัตยกรรมที่พัฒนาขึ้นสำหรับฤดูร้อน ที่มีทั้งความร้อนและความชื้นเพื่อความรื่นรมย์ในการอยู่อาศัยโดยการใช้ “มารู” ซึ่งมารูจะมีช่องว่างจากพื้นเพื่อวางไม้กระดาน ให้อากาศทั้งความร้อนและความเย็นไหลเวียนได้ดี ซึ่งเป็นระบบทำความเย็นธรรมชาติที่สร้างสรรค์มาอย่างดี ระบบอัจฉริยะนี้รวมเอาทั้งระบบร้อนอนดลและระบบเย็นมารูเข้าด้วยกันซึ่งทำให้บ้านฮันอกเป็นบ้านตามหลักวิทยาศาสตร์ที่ออกแบบได้อย่างมีระบบ ทำให้บ้านเกาหลีแบบดั้งเดิมนี้เหมาะแก่การอยู่อาศัยทั้งอบอุ่นสบายในฤดูหนาวที่เย็นยะเยือกและเย็นสดชื่นในฤดูร้อนที่แดดแผดเผา 


หลังคาของบ้านฮันอกมักใช้ “กีฮวา”(กระเบื้องดิน) ที่ทำจากดินอบ และทำได้หลายสีสันหรือฟางที่นำมาถักเป็นหลังคา ยกตัวอย่างเช่น  ทำเนียบของประธานาธิบดีเกาหลี ช็องวาแด ซึ่งมีความหมายว่า  “บ้านกระเบื้องสีน้ำเงิน” ก็เพราะใช้กระเบื้องสีน้ำเงินมุงหลังคาเหมือนดังชื่อ

บ้านฮันอกที่สร้างจากไม้หากให้การดูแลรักษาอย่างเหมาะสมจะสามารถอยู่ได้อย่างยาวนาน บ้านฮันอกที่ดีที่สุดคือ บ้านที่มีภูเขาอยู่ด้านหลังเพื่อป้องกันลมเย็นและมีแม่น้ำอยู่ด้านหน้าเพื่อความสะดวกต่อการใช้สอย เช่น หอคึงนักจอน แห่งวัดพงจองซา ในป่าชอนดึงซาน เมืองอันดง จังหวัดคยองซังบุกโด ซึ่งสร้างขึ้นก่อนปี 1363 เป็นสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ที่สุดของเกาหลีที่ทำจากไม้ที่ยังคงอยู่ โครงสร้างอาคารยังคงสภาพเดิมแม้ว่าเวลาได้ล่วงเลยมาแล้วกว่า 650 ปี บ้านฮันอกที่งดงามถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ผู้คนได้ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยได้อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ  นอกจากนี้ชาวต่างชาติต่างหลงใหลในระบบและความสวยงามของบ้านฮันอกอีกด้วย

 

ในปัจจุบันชาวเกาหลีชอบที่จะอยู่บ้านสมัยใหม่ ประชากรในกรุงโซลกว่า 60% อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์สมัยใหม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อาคารสูงหลายชั้นเหล่านี้ใช้ระบบความร้อนที่ได้แนวคิดมาจากระบบอนดลอันเก่าแก่เกือบทุกแห่ง บ้านเดี่ยวที่สร้างขึ้นใหม่ก็นำภูมิปัญญาอันเก่าแก่นี้มาใช้เช่นเดียวกัน แต่เปลี่ยนมาใช้ท่อโลหะฝังใต้พื้นเรือนแทนท่อนำความร้อนแบบดั้งเดิมโดยใช้แก๊ส หรือไฟฟ้าเป็นตัวสร้างความร้อนให้กับน้ำในท่อ

“อนดล” ไม่ได้มีแค่ในเกาหลีแต่เพียงเท่านั้นแต่ยังเป็นที่นิยมในประเทศต่างๆ เป็นอย่างมาก