ละครเวทีรอบปฐมทัศน์จากเว็บตูนที่อิงเรื่องราวทหารผ่านศึกสงครามเกาหลีและเคป็อปโดยศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี
ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทย เปิดการแสดงละครเวที “พยัคฆ์น้อยพอร์คชอป (The Little Tiger For Korea)” ณ ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา
ละครเวทีเรื่องนี้ดัดแปลงจากเว็บตูนเรื่อง “ข้ามเวลาตามหาเมน” (“One Day, My Beloved Idol Group’s Leader Disappeared!”) ที่ผลิตโดยศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี ซึ่งปัจจุบันกำลังเผยแพร่ผ่าน KAKAO WEBTOON และหนังสือพิมพ์รายวัน ไทยโพสต์ โดยมี ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ เป็นผู้รับหน้าที่ในการดัดแปลงเป็นละครเวที โดยโครงการนี้ริเริ่มผ่านการเสนอแนะของศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีร่วมกับ ปวิตร มหาสารินันทน์ อดีตหัวหน้าภาควิชาศิลปะการละคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายนปี 2565
ในการดัดแปลงเว็บตูนเรื่องดัง “ข้ามเวลาตามหาเมน” มาเป็นละครเวที “พยัคฆ์น้อยพอร์คชอป” ในครั้งนี้ ได้ ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ นักเขียนบท ผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์ผู้มีประสบการณ์ทั้งในแวดวงละครและภาพยนตร์มากว่าสี่ทศวรรษ ทั้งยังมีผลงานการกำกับละครเวทีมากกว่า 50 เรื่อง มาเป็นผู้รับผิดชอบในการดัดแปลงบทละคร ซึ่งปัจจุบัน ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ กำลังรับหน้าที่เป็นผู้ดัดแปลงบทซีรีย์เกาหลีเรื่อง “Mouse” และ “What's Wrong with Secretary Kim” มาเป็นเวอร์ชันไทย ในส่วนของผู้กำกับก็ได้ ภัทรสุดา อนุมานราชธน ผู้กำกับมากฝีมือที่กำกับละครเวทีมาแล้วกว่า 40 เรื่อง และได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ชั้นอัศวิน (Chevalier de l'Ordre des Arts et des Lettres) จากรัฐบาลฝรั่งเศสเมื่อปีที่ผ่านมา มาเป็นผู้กำกับละครเวทีในครั้งนี้
ละครเวทีเรื่อง “พยัคฆ์น้อยพอร์คชอป”นี้ เป็นเรื่องราวของ “พิม” ศัลยแพทย์ด้านความงาม ผู้เป็นลูกหลานของทหารผ่านศึกเกาหลีที่ได้เดินทางข้ามกาลเวลาไปยังช่วงสงครามเกาหลีเพื่อช่วย “เคย์” ไอดอล K-pop ที่จู่ ๆ ก็หายไปจากความทรงจำของผู้คน หลังจากได้เห็นการสู้รบและการเสียสละของเหล่าทหารผ่านศึกชาวไทย “พิม” ก็ได้เรียนรู้และเติบโตเป็นแพทย์ที่ดียิ่งขึ้น
การดำเนินเรื่องของละครเวทีดำเนินไปในรูปแบบคล้ายๆ กับ “พันโซรี” ของประเทศเกาหลี โดยการที่ตัวละครในฉากนั้นๆ อธิบายถึงสถานการณ์ของตัวเองและเรื่องราวคร่าวๆ ให้กับผู้ชมได้รับรู้
ในส่วนของนักแสดง บทบาท “พิม” นางเอกของเรื่อง รับบทโดย รัศม์ประภา วิสุมา ผู้เริ่มต้นสายงานนี้ในฐานะนางแบบ และกลายเป็นนักแสดงละครเวที นักแสดงละครสังกัดช่อง 3 ส่วนบทบาท “คราม” คุณปู่ของพิมและทหารผ่านศึกชาวไทย รับบทโดย เท่าฟ้า มณีประสพโชค ผู้จบเอกการแสดงละครเพลงจากนิวยอร์ก ซึ่งขณะนี้กำลังทุ่มเทกับงานแสดงละครเพลงและภาพยนตร์ อีกทั้ง เพลงไท นิยมไทย นักเต้นฮิปฮอปที่ได้แสดงให้เห็นทักษะการแสดงด้วยการเล่นคนเดียว 2 บทบาทเป็น “เคย์” พระเอกของเรื่องและ “คิมกอนอู” คุณปู่ของเคย์ เหล่านักแสดงเลือกหยิบภาษาเกาหลีมาใช้ในบทพูดได้อย่างเหมาะสม ช่วยให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมไปกับละครได้อย่างดี
นอกจากนี้ยังมี พรเพ็ญ ฟ้าอำนวย ผู้กำกับเวทีและรับบท “สุกัญญา” ป้าของพิม ชลเทพ ณ บางช้าง ผู้รับบท “จางจิน” และแปลภาษา ณัฐพล คุ้มเมธา นักแสดงละครใบ้รับบท “อาทิตย์” ทหารผ่านศึก ที่ทั้งแสดงได้ตลกอย่างเป็นธรรมชาติ รับหน้าที่หลายบทบาทได้ในคนเดียว และดำเนินเรื่องได้อย่างชาญฉลาด
โดยการแสดงในวันนั้นมีผู้เข้าชมราว ๆ 200 คน รวมไปถึงนายปาร์ค ยงมิน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย พล.อ.บัณฑิต มลายอริศูนย์ นายกสมาคมทหารผ่านศึกเกาหลี รศ. ดร. สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดี คณะอักษรศาสตร์ และอารี อารีจิตเสถียร ผู้บริหารทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์ แม้ว่าจะเป็นการแสดงที่กินเวลายาวถึง 3 ชั่วโมง แต่ผู้ชมก็ส่งเสียงปรบมือและชื่นชมไปกับการแสดงที่ยอดเยี่ยมของเหล่านักแสดงตลอดทั้งการแสดง
มิตรภาพที่ก่อตัวขึ้นระหว่างการต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันเพื่อความสงบสุขและอิสรภาพของทหารไทย “คราม” กับ “อาทิตย์” และทหารเกาหลี “คิม กอนอู” กับ “โก ยองมี” ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันล้ำค่าระหว่างสองประเทศ ทั้งยังมีบทบาทสมทบอย่างร่างทรงไทย “สุกัญญา” และร่างทรงเกาหลี “ปาร์ค จินโฮ” ที่คอยมอบเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมตลอดการแสดง
พล.อ.บัณฑิต มลายอริศูนย์ นายกสมาคมทหารผ่านศึกเกาหลีได้กล่าวแสดงความขอบคุณต่อศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีว่า “ขอบคุณที่ไม่ลืมเหล่าทหารผ่านศึกและผลิตละครเวทีนี้ขึ้นมา” นอกจากนี้สื่อบันเทิงต่างๆ ยังแสดงความสนใจที่จะหยิบเอาละครเวทีเรื่องนี้ไปผลิตในรูปแบบละครอีกด้วย
โจ แจอิล ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีกล่าวว่า “ชาวไทยและชาวเกาหลีสามารถเพลิดเพลินไปกับละครเวทีเรื่องนี้ พร้อมทั้งได้รับรู้ถึงมิตรภาพระหว่างทั้งสองประเทศ และรู้สึกใกล้ชิดกันราวกับเป็นครอบครัว ผมจะส่งเสริมความร่วมมือในการผลิตละครเวทีของทั้งสองประเทศให้มากยิ่งขึ้นและพัฒนาการแลกเปลี่ยนซอฟต์พาวเวอร์ระหว่างทั้งสองประเทศ”
สามารถรับชมวิดีโอไฮไลต์การแสดงย้อนหลังได้ผ่านทางช่อง Youtube ของศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี (@ThaiKCC) นอกจากนี้ทางศูนย์วัฒนธรรมยังมีแผนที่จะนำเว็บตูนไปตีพิมพ์เป็นหนังสือ พร้อมแจกจ่ายให้กับห้องสมุดและโรงเรียนต่าง ๆ ในประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อีกด้วย
รูปภาพที่ 1-12 จาก JM Kim
รูปภาพที่ 13-28 จาก Jira Aungsuthamatuch
연극 사진
- ไฟล์แนบ