แนะนำศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี

KOREAN CULTURAL CENTER

  • แนะนำศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี


ราชวงศ์โชซอน (ศตวรรษที่ 15)



ในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 โครยอเกิดปัญหารุมเร้าขึ้นทั้งศึกในและศึกนอก มีการแก่งแย่งชิงอํานาจในราชวงศ์ ในขณะเดียวกันก็มีโจรโพกผ้าแดงและโจรสลัดแวกูเข้ามารุกราน ในเวลานั้นแม่ทัพอีซองกเยได้รับความนิยมจากประชาชนเนื่องจากสามารถขับไล่ผู้รุกรานได้ หลังจากโค่นล้มราชวงศ์โครยอลงก็สถาปนาราชวงศ์ใหม่คือ โชซอน” และก้าวขึ้นเป็นกษัตริย์ในฐานะกษัตริย์พระองค์แรก พระเจ้าแทโจได้เลือกฮันยัง (ปัจจุบันคือโซล) ให้เป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ใหม่ ซึ่งมีทําเลที่ตั้งที่เป็นสิริมงคลตามหลักฮวงจุ้ย

 

พระองค์ยังทรงรับสั่งให้สร้างพระราชวังคยองบกกุงและ ศาลชงมโยขึ้น รวมทั้งถนนหนทางและตลาดค้าขาย เมืองหลวงใหม่ตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรเกาหลี มีแม่น้ำฮันกังไหลผ่านทําให้การเดินทางไปมาสะดวก

 

พระเจ้าแทจง กษัตริย์องค์ที่สามและพระโอรสแห่งกษัตริย์ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ทรงมีส่วนสําคัญอย่างยิ่งในการปฏิรูประบอบการเมือง การปกครองให้มีเสถียรภาพ พระองค์ทรงนําระบบการระบุตัวตนมาใช้ โดยประชาชนทุกคนจะต้องลงทะเบียนราษฎร์และพกป้ายโฮแพไว้กับตัว นอกจากนี้พระองค์ยังทรงจัดตั้งกระทรวงขึ้นหกกระทรวงเพื่อปกครองประเทศ ได้แก่ กระทรวงบริหารงานบุคคล การคลัง พิธีการทูต กลาโหม ยุติธรรม และงานแผ่นดิน

 

พระเจ้าเซจง กษัตริย์องค์ที่สี่และพระโอรสของพระเจ้าแทจง ทรงนําประชาราษฎร์เข้าสู่ยุคแห่งความรุ่งเรืองทั้งทางวัฒนธรรม สังคม และการเมือง เหล่านักปราชญ์แห่งชิบฮยอนจอน (สถาบันวิจัย) ได้พัฒนานโยบายที่ชัดเจนและเปี่ยมประสิทธิภาพ ในระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าเซโจ พระเจ้าเยจงและพระเจ้าซองจง มีการบัญญัติคยองกุก แดจอน (ประมวลกฎหมาย) ขึ้นเพื่อเป็นรากฐานให้เกิดระบอบการปกครองที่ยั่งยืนนาน

 

 

การประดิษฐ์อักษรฮันกึล

ภาษาเกาหลีใช้ตัวอักษรจีนในการอ่านเขียนมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษ มีการคิดค้นระบบอีดูและฮยังชัลขึ้นซึ่งเป็นระบบที่ใช้ตัวอักษรจีนแสดงเสียงภาษาเกาหลี แต่ก็ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงอยู่มาก ในปี 1443 พระเจ้าเซจงได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรฮันกึล(ตัวอักษรเกาหลี)ขึ้นและประกาศใช้ในอีกสามปีต่อมาในปี 1446 รูปทรงของตัวอักษรฮันกึลเลียนแบบรูปทรงของช่องปากที่แปรเปลี่ยนไปตามการออกเสียง นักวิชาการหลายคนกล่าวว่าฮันกึลคือระบบการเขียนที่เป็นไปตามหลักภาษาศาสตร์และเรียนง่ายที่สุดในโลก ระบบฮันกึลประสบความสําเร็จในการสื่อสารระหว่างรัฐบาลและประชาชน ทั้งยังมีบทบาทสําคัญอย่างยิ่งต่อการวางรากฐานของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรม

 

 

การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในรัชสมัยโชซอนมีการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างยิ่งยวด ชากยอกลู (นาฬิกาน้ำ) อังบูอิลกู (นาฬิกาแดด) และฮนชอนอึย (ลูกโลกดารา) ล้วนประดิษฐ์ขึ้นในช่วงต้นรัชสมัยโชซอน รวมทั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนที่เรียกว่าชึกอูกี ชิ้นแรกของโลกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการสํารวจพื้นที่และทําแผนที่ขึ้นโดยเครื่องอินจีอึยและเครื่องคยูฮยอง ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าแทโจ มีการวาด แผนที่ท้องฟ้าหรือชอนซังยอลชาพุนยาชีโดขึ้นตามแผนที่เดิมที่วาดไว้ในสมัยโคกูรยอ ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าเซจง มีการคํานวณ การเคลื่อนที่ของดวงดาวหลักเจ็ดดวง หรือชิลจองซันตามปฏิทิน โสวฉือลีของจีนและปฏิทินอิสลามของอาหรับ องค์ความรู้ทางด้านการแพทย์ได้รุดหน้าเป็นอย่างมาก ทั้งฮยังยัก ชิบซองบัง (ใบสั่งยาการแพทย์แผนเกาหลี) อึยบัง ยูชี (ใบสั่งยาตามหมวดหมู่) ล้วนแล้วแต่ถูกนํามาใช้ มีการประดิษฐ์ตัวพิมพ์โลหะ เช่น คเยมีจาและคาบินจาในรัชสมัยพระเจ้าแทจงและพระเจ้าเซจงทําให้พิมพ์หนังสือได้เป็นจํานวนมาก

 

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของราชวงศ์โชซอน

ราชวงศ์โชซอนคงความสัมพันธ์อันดีกับราชวงศ์หมิงของจีน ทั้งสองราชวงศ์ต่างส่งราชทูตไปมาหาสู่กันทุกปี ทั้งมียังแลกเปลี่ยนทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง โชซอนยังได้ ยอมรับคําร้องขอของญี่ปุ่นที่ต้องการให้เปิดท่าเรือขึ้นที่ปูซาน ชินแฮ และอุลซัน เพื่อทําการค้าแบบทวิภาคี ในปี 1443 โชซอนได้ลงนามทำข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีกับผู้นําตระกูลสึชิมะของญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังได้ทําการค้ากับประเทศในเอเชีย เช่น ริวกิว สยาม และชวา

 

 

การพัฒนาทักษะงานฝีมือ

 เครื่องลายครามถือเป็นตัวแทนงานหัตถกรรมที่โดดเด่นที่สุดในรัชสมัยโชซอน มีการใช้เครื่องสังคโลกสีฟ้าเทาหรือเครื่องกระเบื้องสีขาวกันอย่างกว้างขวางทั้งในราชสํานักและกรมกองต่างๆ ฝีมือการปั้นเครื่องลายครามได้พัฒนาขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงประมาณศตวรรษที่ 16

เครื่องกระเบื้องสีขาวเน้นการปั้นแต่งแบบเรียบง่ายขาวสะอาดตามธรรมเนียมนิยมตั้งแต่สมัยโครยอซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของเหล่านักปราชญ์ขงจื๊อผู้ที่มีรสนิยมชั้นสูง

cheonsangjido_700.jpgชอนซังยอลชาพุนยาชีโด (โชซอน ศตวรรษที่ 17) แผนภาพดาราศาสตร์สมัยโชซอนแสดงถึงกลุ่มดาวต่างๆ 

(ที่มา: พิพิธภัณฑ์ พระราชวังแห่งชาติ เกาหลี)



อิมจิน แวรัน (การรุกรานของญี่ปุ่นปี 1592)

 

โชซอนมีความสัมพันธ์อันดีกับญี่ปุ่นตลอดช่วงศตวรรษที่ 14 และ 15 อย่างไรก็ตาม เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 16 ญี่ปุ่นได้เรียกร้องส่วนแบ่งในการค้าแบบทวิภาคีมากขึ้น แต่โชซอนปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามข้อเรียกร้องนั้น ญี่ปุ่นสร้างความปั่นป่วนให้กับโชซอนโดยก่อความวุ่นวายขึ้นโดยการก่อกบฏใน 3 เมืองท่าเรียกว่าซัมโพแวรัน (ปี 1510) การบุกโจรกรรมอึลมโยที่เรียกว่า อึลมโยแวบยอน (ปี 1555) โทโยโตมิ ฮิเดโยชิได้รวบรวมอาณาจักรญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียวเป็นการสิ้นสุดช่วงยุคสงครามระหว่างรัฐที่ยาวนานมาถึง 120 ปี

 

หลังจากนั้นในปี 1592 เขายกกองกําลัง ราว 200,000 คนเข้าบุกโชซอน โดยหวังที่จะลดทอนอํานาจจากเหล่าโชกุน (นายพลทหารญี่ปุ่น) และสร้างฐานอํานาจในญี่ปุ่นให้มั่นคงตั้งแต่ ปี 1592-1598 เป็นเวลากว่า 7 ปี มีสงครามเกิดขึ้น 2 ครั้ง สงครามนี้เรียกว่าอิมจินแวรัน (การรุกรานของญี่ปุ่นปี 1592)


sundial_700.jpg

อังบูอิลกู (โชซอน ศตวรรษ ที่ 17-18) นาฬิกาแดดสามารถแสดงได้ทั้งการเปลี่ยนแปลงเวลา และฤดูกาล 

(ที่มา: พิพิธภัณฑ์ พระราชวังแห่งชาติเกาหลี)



raingauge_700.jpg

เครื่องวัดปริมาณน้ำฝน (โชซอน ศตวรรษที่ 18)  

เครื่องวัดปริมาณน้ำฝนนี้เคยติดตั้งอยู่ในอาคารซอน ฮวาดัง เมืองแดกู (ด้านขวา)



พระเจ้าซอนโจทรงลี้ภัยไปยังอึยจูซึ่งอยู่ใกล้กับราชวงศ์หมิงของจีนและขอให้หมิงช่วยต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น ญี่ปุ่นกรีธาทัพบุกเข้าไปในแคว้นทางตอนเหนือของโชซอน


ชาวเกาหลีทั่วเขตแคว้นดินแดนต่างพากันจับอาวุธขึ้นสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินและที่จะลืมไปไม่ได้ก็คือมหายุทธนาวีที่พลเรือเอกอี ซุน-ซินได้นํากองทัพเรือโชซอนบุกเข้าพิชิตญี่ปุ่นผู้บุกเข้ารุกรานครั้งแล้วครั้งเล่าและยืนหยัดป้องกันอู่ข้าวอู่น้ำของชาติในจังหวัดชอลลาโดเอาไว้ได้ กองทัพญี่ปุ่นถอนกําลังออกจากเกาหลี แต่ก็เข้าบุกโจมตีโชซอนอีกครั้งในปี 1597


แม้ว่าจะเหลือเรือรบเพียง 13 ลํา แต่จอมทัพเรือลี ซุน-ซินก็สามารถพิชิตกองทัพญี่ปุ่นที่มีเรือรบถึง 133 ลําได้ ศึกมหานทีในช่องแคบมยองรยังนับเป็นสงครามประจัญบานครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมาควรค่าแก่การจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ยุทธนาวีของโลก


whiteprocelain_700.jpgโถเครื่องกระเบื้องสีขาว ลายลูกพลัม ไผ่และนก (โชซอน ศตวรรษที่ 15) โถนี้ทําขึ้นในช่วงต้นรัชสมัยโชซอน ลวดลายใบไผ่ และนกน้อยบนกิ่งต้นพลัมแสดงถึงทิวทัศน์อัน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเกาหลี (ที่มา: พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เกาหลี)



หลังจากที่โทโยโตมิ ฮิเดโยชิสิ้นชีพ กองทัพญี่ปุ่นก็ล่าถอยกลับมาตุภูมิ สงครามยาวนานเจ็ดปีนี้ได้ทําลายแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในโชซอนไปมากมาย ซึ่งรวมถึงวัดพุลกุกซาด้วย ทหารญี่ปุ่นช่วงชิงหนังสือ ตัวพิมพ์ และงานศิลปะไปจากโชซอน ญี่ปุ่นใช้ของที่ปล้นชิงมาได้นี้เพิ่มพูนความรู้ความเชี่ยวชาญและศิลปกรรมในประเทศของตน ส่วนช่างปั้นที่กองทัพญี่ปุ่นได้ลักพาตัวไปจากโชซอนก็ช่วยญี่ปุ่นพัฒนาวัฒนธรรมทางด้านเครื่องลายครามของตนเองขึ้นมา



การพัฒนาวัฒนธรรมในระดับรากหญ้า


ในช่วงปลายรัชสมัยโชซอน ประเทศก้าวเข้าสู่การพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมและการค้า เด็กหลายคนสามารถเลือกศึกษาในโรงเรียนเอกชนใกล้บ้านได้ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและ เริ่มสนใจแสวงหาความบันเทิงรูปแบบต่างๆ มีการตีพิมพ์งานเขียนมากมายโดยใช้ระบบฮันกึลซึ่งอ่านและเข้าใจได้ง่าย เมื่อเทียบกับวรรณกรรมที่เขียนด้วยตัวอักษรจีน มีการพัฒนาการแสดงต่างๆ เช่น พันโซรี (การร้องเพลงเล่าเรื่อง) และระบําหน้ากากพันโซรี เป็นการแสดงที่สร้างความครื้นเครงเป็นอย่างมากด้วยวิธีการเล่าเรื่องผ่านการพรรณนาขับขาน ทำให้ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง พัฒนาจนกลายเป็นวัฒนธรรมความบันเทิงหลักในหมู่ชนชั้นอาชีพ ตัวตลกจะคอยเพิ่มหรือตัดทอนเรื่องราวในขณะเล่าเรื่อง ส่วนผู้ชมก็สามารถร่วมสนุกไปกับการแสดงได้ด้วยการตะโกนคําพูดหรือ ชูอิมแซเข้ากับจังหวะเพลง ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซิน แจฮโย ได้เรียบเรียงพันโซรีซาซอล (เพลงเล่าเรื่อง) ขึ้นใหม่ บทเพลงพันโซรีชั้นนําห้าเรื่อง ได้แก่ ชุนฮยังกา (เพลงแห่งชุนฮยัง) ซิมซองกา (เพลงแห่งซิม ซอง) ฮึงโบกา (เพลงแห่งฮึงโบ) ชอกพยอกกา (เพลงแห่งชอกพยอก) และซูกุงกา (เพลงแห่งซูกุง) ละครสวมหน้ากาก เช่น ทัลโนรีและซันแดโนรีก็เป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมอีกประเภทเช่นกัน


sandaenori_700.jpg

ซันแดโนรี การแสดงบนเวทีแบบดั้งเดิม นักแสดงชายหญิงจะสวมหน้ากากเล่าเรื่องขําขัน ร่ายรํา และขับขาน เป็นต้น